หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำหนดบทบาทของตนเป็น change agent และเป็นผู้ริเริ่มแผนงานวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” หรือที่เรียกโดยย่อว่า Local Enterprises (LEs)
Local Enterprises Exposition 2023 ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล
เป็นครั้งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ผ่านการยกระดับสมรรถนะหรือพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถของการจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่เป้าหมาย ด้วยการยกระดับรายได้และกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม (Fair Trade) สู่กลุ่มผู้ผลิตหรือกลุ่มเกษตรกรต้นน้ำและคนในชุมชน เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน เกื้อกูล และโตไปด้วยกัน เพื่อนำเสนอแนวคิด กระบวนการ วิธีทำงานร่วมกัน กับผู้ประกอบการ กับภาคีวิจัย และกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดเป็นโหนดความรู้กระจายในวงกว้าง จึงได้ร่วมกับสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชนจัดงาน เกื้อกูล Local Enterprises Exposition 2023 หรือ เกื้อกูล LEs Exposition 2023 ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล กลไกสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2566 ณ ลานร่ำรวย ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดาฯ โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเข้าร่วมงานและกล่าวเปิดงานในวันแรก
ดร. กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. เปิดเผยว่า แผนงานวิจัย พัฒนา ธุรกิจชุมชนเกื้อกูลLocal Enterprises มุ่งเน้นการเพิ่มสมรรถนะหรือ ศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถในการจัดการธุรกิจของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Entrepreneurs) มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรพื้นถิ่น (Local Resources) มาผลิตเป็นสินค้าหรือบริการ และมุ่งเน้นให้มีการจ้างและสร้างงานในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น (Local Employment) เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy) ผ่านการใช้ข้อมูล (Data-driven Super APP) แนวคิด (คน-ของ-ตลาด โมเดล) 3 กระบวนการ และ 2 เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน ผลักดัน พัฒนา จนสามารถขยายผล ออกแบบและสร้างกระบวนการหนุนเสริมการพัฒนาธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs และสามารถสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ไขสภาพปัญหาการเงิน ปัญหาธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมาย เกื้อกูลLEs ทำให้ส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ทั้งในด้านทรัพยากร แรงงาน และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน
การจัดงานครั้งนี้เป็นการนำเสนอกลไกการพัฒนาธุรกิจชุมชนร่วมกับผู้ประกอบการ ร่วมกับภาคีอาจารย์นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนงานวิจัย และนำเสนอ กระบวนการเครื่องมือการทำงานเรื่อง เกื้อกูลLocal Enterprises ของหน่วย บพท. ให้เกิดการตระหนักรู้ เข้าใจ เข้าถึง ในกลุ่ม สื่อมวลชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป ทั้งยังป็นการสร้างโอกาสในการสื่อสารสู่หน่วยงานภาคนโยบาย และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือ ที่สนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำโครงสร้างพื้นฐานด้านความรู้ระดับพื้นที่ (Knowledge Infrastructure) ที่เชื่อมโยงการสร้างเคิร์ฟแห่งการเรียนรู้ (Learning Curve) จากผลลัพธ์ของแผนงานวิจัยเกื้อกูลLocal Enterprises ไปขยายผลสู่การสร้างองค์ความรู้ร่วมกับวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยมี ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ทำหน้าที่กำกับดูแลการดำเนินงานในภาพรวม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อน วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประสิทธิผลกับเศรษฐกิจชุมชนให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืน
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถานธัชภูมิ กล่าวเสริมว่า วิทยสถานธัชภูมิตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานที่ต้องการสร้าง และยืนยันความเชื่อที่ว่า จุดแข็งของประเทศไทยอยู่ที่พื้นที่ เพราะคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า พื้นที่คือคำตอบสำคัญ คือทางออกในเรื่องการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจชุมชนของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยวิทยสถานธัชภูมิมีพันธกิจครอบคลุม 5 มิติที่มีผลกระทบสูงต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันความรู้ 5 สถาบัน ได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อจัดการทุนทางวัฒนธรรม สถาบันความรู้เพื่อสร้างโอกาสทางสังคม สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง สถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น และสถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
วิทยสถานธัชภูมิ จะมุ่งเน้นการพัฒนาชุดความรู้เพื่อการพัฒนาและการสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน และสามารถส่งมอบองค์ความรู้สู่ระดับสากลได้ ผ่านระบบจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่จากแผนงานวิจัย เกื้อกูล Local Enterprises ที่ผ่านการยกระดับความรู้เชิงแนวคิด กระบวนการ และเครื่องมือ ที่สังเคราะห์อออกมาเป็นหลักสูตรการพัฒนาและผลักดันจนเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ผ่านการทำงานกับ “สถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน” จนกลายเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาที่เพิ่มความสามารถการประกอบการของธุรกิจชุมชนให้เกิดขึ้นจริงได้ และนำไปสู่การสร้างผลสัมฤทธิ์ทั้งมั่นคง มั่งคั่งทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต อินณวงศ์ ผู้อำนวยการกรอบการวิจัย เกื้อกูล Local Enterprises กล่าวเน้นย้ำว่า ความทรงพลังของหลักคิดและแก่นแนวของ เกื้อกูลLocal Enterprises คือ “คน-ของ-ตลาด โมเดล” เป็นกระบวนการคิดแบบพัฒนาธุรกิจ (คน) Business Development มิใช่ Product Development โดยเน้นการพัฒนาคน(ธุรกิจ) ด้วยการฝึกให้ผู้ประกอบการในพื้นที่วินิจฉัยสุขภาพของธุรกิจ และสุขภาพการเงินของตน และใช้ข้อมูลฝั่งอุปสงค์ (demand) หรือ ตลาด มาออกแบบการบริหารจัดการธุรกิจของตน เจาะลึกข้อมูลตลาด เพื่อเห็นโอกาสใหม่สำหรับธุรกิจ แล้วค้นหาเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ของตน knowledge gap เพื่อช่วยให้สามารถสร้างของที่พัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของกลุ่มผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจได้สำเร็จอย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า แผนงานวิจัย เกื้อกูล Local Enterprises สามารถยกระดับขีดความสำเร็จของธุรกิจชุมชน โดยได้สร้างและพัฒนากลไกการยกระดับธุรกิจชุมชนทั้งรูปแบบการทำงานโดยตรงกับธุรกิจชุมชน และผ่านการทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และนักวิจัยในพื้นที่ (Local Knowledge Manager) รวมทั้งสิ้นกว่า 3,023 ธุรกิจชุมชน ก่อเกิดรายได้รวมของธุรกิจชุมชนที่ผ่านกระบวนการสร้างการเรียนรู้มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 140% มีรายจ่ายที่เป็นการซื้อวัตถุดิบในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 700% มีการจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มขึ้น 100% และมีสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในพื้นที่สูงขึ้นถึง 57% ต่อเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากการเรียนรู้ไปสู่การทำงานจริงผ่าน 3 กระบวนการที่ออกแบบมาสำหรับเกื้อกูลLEs ได้แก่ 1. การรอบรู้เพื่อตื่นรู้ 2. การเปลี่ยนสัมมาชีพสู่มืออาชีพ 3. การสร้างธรรมมาชีพจากเครือข่ายธุรกิจร่วม และผ่าน 2 เครื่องมือสร้างการเรียนรู้ (Learning Platform) ในรูปแบบ Gamification ที่ได้รับการออกแบบเฉพาะเพื่อกลุ่ม เกื้อกูลLEs อาทิ 1. การเงินเศรษฐี 2. การตลาดฟาดมโน 3. การสร้างมูลค่าจากห่วงโซ่คุณค่า 4. อยากผิดชีวิตบรรลัย (อุปสงค์ อุปทานการผลิต) เป็นต้น และเครื่องมือเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับความสามารถการประกอบการของธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
และเพื่อการขยายผลทั้งในมิติเชิงความคิดและมิติเชิงปริมาณในปีงบประมาณ 2566 นี้ แผนงานวิจัย เกื้อกูลLocal Enterprises ได้เดินหน้าและยกระดับการทำงานรูปแบบใหม่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 การเดินหน้าด้วยสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนที่สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืนผ่านการยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจชุมชนและผู้ประกอบการ เกื้อกูลLocal Enterprises ทั่วประเทศไทย ด้วยการสร้างองค์ความรู้ว่าด้วยการสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนที่ตอบสมัยและตรงกาล รวมทั้งการพัฒนาต่อยอดโดยการบ่มเพาะ (Incubator) และเสริมพลัง (Empowerment) ธุรกิจชุมชนจากโครงการธุรกิจปันกันในรูปแบบเดี่ยวไปสู่กลุ่มและเครือข่าย รวมทั้งการสร้างกลุ่มและเครือข่ายของประชาคมวิจัย ทั้งในรูปแบบนักวิจัยอิสระและมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งที่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และ รูปแบบที่ 2 การเดินหน้าสร้างเครื่องมือที่ทรงพลัง คือ เกื้อกูลLEs Super APP: Data Driven Strategy Application กลยุทธ์การใช้ดาต้า ข้อมูลเป็นตัวนำความสำเร็จ ผ่านการเก็บข้อมูลของผู้ประกอบการ เกื้อกูลLEs ที่ลงทะเบียนทั่วประเทศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบปฏิบัติการทางการเงินใหม่ที่ชื่อว่า “เกื้อกูลLEs Super APP” ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลธุรกิจชุมชนขนาดใหญ่ระดับประเทศที่มีทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชุมชน อาทิ การเงิน การตลาด การจ้างงาน และข้อมูลกลยุทธ์ทางการตลาดของธุรกิจที่ลงทะเบียนร่วมเป็น เกื้อกูลLEs ซึ่งข้อมูล หรือ ดาต้าขนาดใหญ่เหล่านี้จะถูกนำมาใช้วิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การสังเคราะห์ State of Development for Thai Local Enterprises ของประเทศไทยต่อไปอย่างแน่นอน
ดร. สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด นวัตกรทางสังคมผู้ออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์ม เกื้อกูลLEs Super APP สำหรับผู้ประกอบการ เกื้อกูลLocal Enterprises ประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดการข้อมูลดิจิทัลเพื่อสร้างการพัฒนาระดับพื้นที่ (Area-based Development) เป็นกระบวนการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาสที่จะต่อยอดและพัฒนาทุนทรัพยากรในพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลง และสอดคล้องต่อความต้องการจากบริบทสังคม โดยใช้ข้อมูลดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน (Driver) ให้เกิดการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจชุมชน และเกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คุณค่าในระดับพื้นที่ได้ จนเกิดประสิทธิภาพในการนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจชุมชนที่สร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนตลอดไป
แพลตฟอร์ม เกื้อกูลLEs Super APP เปรียบเสมือนคลังของเครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเพื่อเรียนรู้ในการจัดการ การพัฒนาธุรกิจชุมชน และเพื่อเป็นอาวุธทางข้อมูล (Deep Local Enterprises Data) ที่จะนำไปสู่การสังเคราะห์ State of Development for Thai Local Enterprises ที่สามารถบ่งชี้นัยยะอาการของธุรกิจชุมชนที่เกี่ยวพันกับอาการทางเศรษฐกิจของชุมชนนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรพื้นที่ การสร้างและการจ้างงานในพื้นที่ รวมทั้งการหาตลาด ทั้งในและนอกพื้นที่ ข้อมูลนี้นับเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สามารถวัดการเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจชุมชน (ผลประกอบการ ผลกำไร การจับจ่าย-ใช้สอยในพื้นที่ กิจการใหม่ที่ต้องลงทุน การจ้างงานในพื้นที่) และกิจกรรมทางสังคมชุมชน (การสร้างเครือข่าย การแบ่งปัน การมี inclusive mindset แบบโตไปด้วยกัน) อันเกิดจากวิถีการประกอบการของธุรกิจชุมชน ภายใต้กรอบ เกื้อกูลLEs คน-ของ-ตลาด โมเดลที่โตไปด้วยกัน
โดยเครื่องมือที่สร้างการเรียนรู้เพื่อจัดการธุรกิจชุมชนต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บน เกื้อกูลLEs Super APP ได้ถูกออกแบบให้เข้าใจง่าย ใช้งานง่ายสะดวก ประมวลผลอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์ปัญหา หาคำตอบได้ทันท่วงที และสามารถขยายผลได้ในวงกว้าง เป็นระบบที่สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของข้อมูลของธุรกิจชุมชนอย่างสูง ว่าจะถูกใช้เพื่อสังเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต โดยมี หน่วย บพท. และสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชนเป็นผู้ดูแล วิเคราะห์ สังเคราะห์อย่างใกล้ชิด
ซึ่งทางทีมได้มีการวางแผนที่จะนำ เกื้อกูลLEs Super APP ไปขยายผลกับหน่วยงานภาคเอกชนประเภทธนาคาร (Bank Agent) ผ่านการอบรมและถ่ายทอดชุดความรู้ด้านการเงิน เพื่อให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนที่เป็นลูกค้าและหรือลูกหนี้ของธนาคารทั้งในปัจจุบันและอนาคต ให้เกษตรกรหรือผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน สามารถวางกลยุทธ์การบริหารเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องของธุรกิจตน ผ่านสมุดพกการเงินครัวเรือน สมุดพกการเงินธุรกิจ สมุดพกการลงทุน ฯลฯ ทั้งยังเป็นการสร้างและปลูกฝังกระบวนการตัดสินใจและการดำเนินธุรกิจภายใต้การใช้ข้อมูล หรือ ดาต้า กับเกษตรกรหรือผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนของประเทศไทยได้เกิดผลที่มั่งคั่งอย่างสำเร็จ อย่างเกื้อกูล และอย่างยั่งยืน
มหกรรม เกื้อกูล Local Enterprises Exposition 2023: “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล” กลไกสร้างความมั่งคั่งที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจชุมชนนี้ นับเป็นการเดินหน้าครั้งสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถสู่ความสำเร็จของผู้ประกอบการชุมชน เกื้อกูลLEs ที่จะทำให้ท่านได้ตื่นตา ตื่นใจ และตระหนักรู้ไปกับ 1 แนวคิด 3 กระบวนการ และ 2 เครื่องมือ ที่จะเปลี่ยนความคิดและวิถีการทำงานของทุกคนผ่านผลลัพธ์ที่ชัดเจนจากธุรกิจชุมชน เกื้อกูลLEs และเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ
โดยในงานจะมีบริเวณเวที เกื้อกูลLEX…ที่ยิ่งใหญ่ด้วยเป้าหมายแห่งความสำเร็จอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการชุมชน เกื้อกูลLEs และเกื้อกูล Local Knowledge Manager จากทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการ ‘เกื้อกูลLocal Enterprises’ ได้ที่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โทรศัพท์ 0 2109 5432 ต่อ บพท. หรือ เว็บไซต์ : https://www.nxpo.or.th/A/
รวมภาพบรรยากาศ