
ในแต่ละเดือน สาวๆ จะมีวันแดงเดือด ให้ว้าวุ่น หงุดหงิดและดราม่า อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบไม่รู้ที่มาที่ไป ใครเคยเป็นกันบ้าง ไหนยกมือหน่อยค่ะ อ่ะ....เพื่อนเพียบ ! สิ่งเหล่านี้ เรียกว่าอาการ PMS หรือ Premenstrual Syndrome ซึ่งสาวๆ เราหลีกเลี่ยงกันไม่ค่อยได้ เพราะมากับฮอร์โมนและรอบเดือนนั่นเอง มารู้จักกับ Premenstrual Syndrome กันให้มากขึ้นกันค่ะว่าเป็นอย่างไร ไหนเล่ามาเซ๊ะ ?
PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ อาการไม่สบายตัว รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรมในผู้หญิง มักจะเป็นในช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 5-11 วัน และอาการพวกนี้จะเริ่มดีขึ้นหลังประจำเดือนมาได้ 4-7 วัน ในกรณีที่รุนแรง อาการดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่องานประจำวัน ชีวิตประจำวัน และมนุษยสัมพันธ์ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต แล้วอาการ PMS เป็นอย่างไรกันบ้างนะ ?

Source : Freepik
กลุ่มอาการ PMS มีมากมายกว่า 150 อาการค่ะ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1.อาการทางกาย :
เต้านมบวม/อ่อนนุ่ม
ตัวบวม แขนขาบวม/ท้องอืด
น้ำหนักขึ้น
ปวดศีรษะ
เหนื่อยง่าย รู้สึกล้าอ่อนแรง
2. การเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรม :
อารมณ์ขึ้นลงและหงุดหงิดง่าย
ไม่มีสมาธิ
หลงลืม
ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย วิตกกังวล
มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ นอนไม่หลับ หรือง่วงซึม
ความอยากอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง / หิวบ่อย
ในกรณีที่มีอาการรุนแรง ได้รับความทรมานจากอาการ PMS ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม
สาเหตุของอาการ PMS นั้นเกิดจากภาวะฮอร์โมนและภาวะสารสื่อประสาทไม่สมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยทางร่างกาย นอกจากนี้ความเครียด ทัศนคติที่มีต่อชีวิต และลักษณะนิสัยส่วนตัวมีส่วนต่ออาการ PMS ที่เกิดขึ้นในแต่ละคน
วิธีดูแลตัวเองเพื่อบรรเทาอาการ PMS
1. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
การนอนหลับอย่างมีคุณภาพอย่างน้อยวันละ 7 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่องเป็นกิจวัตร เข้านอนก่อนเที่ยงคืน จะทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกัน ไม่อ่อนแอรับเชื้อโรคง่ายๆ และการได้พักผ่อนอย่างเพียงพอยังทำให้อารมณ์ดี สมองปลอดโปร่ง
2.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ระบบภูมิคุ้มกันและระบบหมุนเวียนเลือดทำงานได้ดีขึ้น กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย ส่งผลให้จิตใจแจ่มใส ไม่หงุดหงิดง่าย ซึ่งนอกจากจะช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้แล้วยังช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคทางกายและใจได้อีกหลายต่อหลายโรคเลยทีเดียวค่ะ
3.เลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม
ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ งดอาหารที่มีรสเค็มจัดและหวานจัด อาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูป ส่วนอาหารที่ช่วยบรรเทาอาการ PMS ได้ดีคือ ธัญพืชต่างๆ ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง รวมถึงผักประเภทใบและแครอท
4.แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ
วิธีนี้ใช้แก้อาการหิวบ่อยได้ดีค่ะ แบ่งอาหารแต่ละมื้อเป็นมื้อเล็กๆ ย่อยๆ ต่อวัน จะช่วยลดความโหยในระหว่างมื้อได้ดี แล้วเราจะไม่รับประทานมากเกินความจำเป็นจนสะสมเป็นโรคอ้วนหรือโรคอื่นๆ ตามมาค่ะ
5.ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายความเครียด
จัดเวลาไปทำกิจกรรมที่ชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด นั่งสมาธิ สวดมนต์ ฟังเพลง หรือออกไปพบปะเพื่อนฝูง สิ่งที่ทำให้คุณมีความสุขและเพลิดเพลินไปกับกิจกรรมนั้นๆ ได้ จะช่วยเรื่องอารมณ์ได้ดีมากค่ะ
6.ไปพบแพทย์
อาการบางอาการก็ไม่สามารถเยียวยาด้วยตนเองได้ หากอาการ PMS รุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันในทุกเดือน ก็ควรต้องพบแพทย์เพื่อช่วยรักษาได้ตรงจุดขึ้นค่ะ
อาการ PMS ไม่ใช่เรื่องสนุก เพราะนอกจากเราที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้น คนรอบข้างเราก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งบ่อยครั้งที่อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลงได้ ดังนั้นเราจึงควรจริงจังกับการดูแลตัวเองทั้ง 6 ขั้นตอนที่กล่าวมาเพื่อผลดีต่อตัวเราเองค่ะ