การฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรละเลย และควรจะฉีดวัคซีนให้ครบให้เหมาะสมกับเด็กๆ ในแต่ละช่วงวัย เพราะจะเป็นการช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ช่วยเสริมพัฒนาการให้เป็นไปอย่างปกติ ช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากการเสี่ยงเป็นโรคต่างๆ ได้ ไปดูกันว่า วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก ในแต่ละช่วงวัยควรฉีดตัวไหนกันบ้าง และการฉีดวัคซีนเด็กต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
วัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก ช่วงวัยไหนควรฉีดวัคซีนตัวไหนบ้าง
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้เด็กไทยทุกคน ต้องได้รับวัคซีนที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อป้องกันโรคที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพที่สำคัญ และสร้างเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันตามช่วงวัย ดังนี้
วัคซีนป้องกันวัณโรค ( BCG Vaccine) เป็นวัคซีนที่ฉีดให้เด็กทุกคนก่อนออกจากโรงพยาบาล โดยฉีดที่ใต้ผิวหนัง บริเวณต้นแขน หรือหัวไหล่ด้านซ้าย หรือที่สะโพกด้านซ้าย แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละโรงพยาบาล หลังฉีดจะไม่มีแผล ต่อมาประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะเห็นเป็นตุ่มแดงบริเวณที่ฉีด อาจจะมีหนองหรือไม่มีหนองก็ได้ ให้ดูแลโดยเช็ดผิวหนังบริเวณนั้นให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ โดยเช็ดด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว หรือ เช็ดทุกครั้งที่เปียกชื้น ตุ่มนี้จะค่อยๆแห้งลงและเกิดเป็นแผลเป็นมีรอยบุ๋มตรงกลาง ประมาณ 3-6 สัปดาห์
วัคซีนตับอักเสบบี (Hepatitis B Vaccine : HBV) ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน
วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน ((Diphtheria, Tetanus, Pertussis : DPT) โดยฉีดชุดแรก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นควรมีการฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน และเมื่อมีอายุ 4-6 ปี และฉีดเฉพาะ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต
วัคซีนโปลิโอ(Polio) โดยใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดร่วมกับวัคซีนโปลิโอรูปแบบกิน โดยเด็กๆ จะได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอรูปแบบกินจำนวน 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 , 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี และต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน
วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (Measles mumps rubella vaccine : MMR) ฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน
วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese encephalitis virus :JE) ฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรก อายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 อายุ 2 ปี 6 เดือน
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine) ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี โดยปีแรกของการฉีดให้ฉีด 2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 4 สัปดาห์
วัคซีนเอชพีวี (HPV) ควรฉีดตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70-90 %
วัคซีนเสริมตัวอื่นๆ
นอกจากวัคซีนขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็ก ยังมีวัคซีนเสริมตัวอื่นๆ ที่แนะนำอีกดังต่อไปนี้
- วัคซีนโรต้าไวรัส (Rotavirus) ช่วยป้องกันโรคท้องเสียจากเชื้อโรต้าไวรัส เด็กๆ สามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่อายุ 2 และ 4 เดือน เป็นชนิดกิน ช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของโรคที่พบบ่อยๆในเด็กได้
- วัคซีนนิวโมคอคคัส ( Invasive Pneumococcal Disease : IPD) ป้องกันโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยวัคซีนชนิด PCV ควรฉีดในช่วงอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน จากนั้นจึงฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 1 ปี ถึง 1 ปี 3 เดือน
- วัคซีนฮิบ (Haemophilus influenzae type b Vaccine) วัคซีนป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นวัคซีนที่อยู่ในวัคซีนชนิดรวม 1 เข็ม ป้องกันได้ 5 โรค คือ คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ โดยฉีด 3 ครั้ง ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ป้องกันการติดเชื้อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัสฉีดทั้งหมด 2 เข็ม เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และอีกครั้งเมื่ออายุ 4-6 ปี หรือถ้ามีการระบาดของโรคสามารถฉีดเช็มที่สองก่อนได้ แต่ต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบ ชนิด เอ (Hepatitis A Vaccine) ต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน โดยสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป
- วัคซีนไข้เลือดออก แนะนำให้ฉีด วัคซีนในเด็ก ที่มีอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป ต้องมีประวัติเคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมาก่อน และปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนรับวัคซีน โดยฉีด 3 ครั้ง เว้นระยะ 6 เดือน และ 12 เดือนจากการฉีดเข็มแรก
ฉีดวัคซีนเด็กต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
- อย่าลืมนำสมุดบันทึกสุขภาพของเด็ก หรือสมุดวัคซีนไปด้วยทุกครั้ง แพทย์จะได้ดูประวัติสุขภาพและลงบันทึกติดตามการรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด
- เมื่อถึงกำหนดนัด ถ้าเด็กมีไข้ ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปจนกว่าอาการไข้จะหาย
- ถ้าไม่สามารถมารับวัคซีนได้ตามนัด ควรพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบ ไม่ว่าจะเว้นไปนานเท่าไรก็ตาม ก็สามารถให้ต่อเนื่องได้ โดยไม่ต้องเริ่มต้นใหม่
- ถ้าเด็กเคยมีอาการรุนแรงหลังฉีดวัคซีน เช่น ชัก ไข้สูงมาก บวม แดง บริเวณที่ฉีด มีผื่นลมพิษขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนฉีดวัคซีนครั้งต่อไป
- หลังฉีดวัคซีน ควรนั่งพักรอเพื่อสังเกตอาการแพ้วัคซีนที่ โรงพยาบาล อย่างน้อย 30 นาที
- ไม่ควรลืมเวลานัดการฉีดวัคซีนของเด็ก ตั้งแจ้งเตือนทางโทรศัพท์ไว้ก็ได้เพื่อจะได้กันลืม
ข้อมูลจาก : paolohospital, synphaet